(เครื่องเสียง) การดัดแปลง (Modified)...เหรียญสองด้าน
โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ
ทำไมต้องมีการดัดแปลงแก้ไขเครื่องเสียงที่เราซื้อมา อย่าคิดว่าของอะไรก็แล้วแต่ที่เขาทำมาขายเรานั้น สมบูรณ์แบบดีแล้ว (ไม่อยากเชื่อว่ามีนักวิจารณ์เครื่องเสียงบางคนเชื่อเช่นนั้น)
ความจริงก็คือว่า ในโลกนี้ไม่มีใครหรืออะไรที่สมบูรณ์แบบไม่มีที่ติ (Perfect) ย่อมต้องมีข้อผิดพลาด บกพร่องมาก น้อยต่างกันไป
สาเหตุที่เราต้องมาแก้ไขดัดแปลงเครื่องเสียงที่ซื้อมา พอจำแนกได้ดังนี้
- ผู้ผลิตมองข้ามอะไรบางอย่าง บางจุด และคิดว่าไม่มีผล ด้วยความเชื่อเก่าๆและวางใจกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ว่า จะไม่รบกวนกันเอง รวมทั้งการฟังที่ไม่ประณีต ละเอียด พิถีพิถัน การฟังไม่เป็น ไม่ระดับหูทอง หรือชุดฟังทดสอบของผู้ผลิต ผู้ออกแบบ ไม่มีความสมบูรณ์ ละเอียด หรือแม่นยำพอที่จะฟ้องปัญหาได้
- ผู้ผลิตไม่สนใจในส่วนปลีกย่อยอันมีผลต่อคุณภาพเสียง หากแต่เน้นไปที่ความสวยงาม ดูเรียบร้อยเป็นระเบียบ เข้าทำนอง สวยแต่รูปจูบไม่หอม
- การพิถีพิถันเก็บทุกเม็ดอย่างนั้น ในทางปฏิบัติที่การผลิตแบบใช้หุ่นยนต์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ย่อมทำไม่ได้ (การเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงาน สลับซับซ้อนและแพงลิบลิ่ว) ในกรณีของยี่ห้อที่ผลิตไม่เยอะ วางตัวในระดับกลาง (Mid End) ไม่ถึงกับไฮเอนด์ (Hi End) หรือสินค้าตลาด (Mass) อาจพิถีพิถันได้บางจุดแต่ไม่ทั้งหมด
- ผู้ผลิตพยายามทุกวิถีทางในการลดต้นทุนการผลิต วิธีหนึ่งที่จะลดต้นทุนได้อย่างมากก็คือ หาวิธีผลิตที่ง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด ใช้อุปกรณ์น้อยที่สุด รวมถึงการลดคุณภาพอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดความแข็งแรงของโครงสร้างเครื่อง, ตู้ลำโพง ลดการตรวจเช็ค (QC)จนถึงการใช้วงจรที่ประหยัดอะไหล่ (เช่น ไม่มีแม้แต่ที่จะใช้กระ บอกฟิวส์ ใช้บัดกรีที่ตัวฟิวส์เลย) ประหยัดการซ่อมบำรุงในภายหลัง โดยใช้การป้องกันที่บั่นทอนคุณภาพเสียง การออกแบบที่สะดวกรวดเร็วในการตรวจซ่อมมากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพของงาน
- ผู้ผลิตวางหมากไว้ ให้มีอายุใช้งานจำกัด โดยจงใจลดคุณภาพบางจุด เพื่อให้เสียเมื่อใช้ไปสักพัก พูดง่ายๆว่า กะขายอะไหล่หลังหมดประกัน ซึ่งการทำเช่นนี้ มักลดทอนคุณภาพเสียงไปด้วย
- ผู้ผลิตทำมาแบบผิดๆ เป็นความผิดพลาดอย่างไม่น่าเป็นไปได้ อาจด้วยความไม่รู้จริง หรือจงใจ แม้แต่เครื่องเสียงไฮเอนด์หลายๆแสนบาทถึงเป็นล้านๆบาท ก็ทำมาผิดพลาด จึงไม่ควรใช้ราคาเป็นตัวสร้างความมั่นใจ
เราดัดแปลงไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
แน่นอนว่า การดัดแปลงแก้ไข ย่อมสร้างสิ่งที่แตกต่างออกไป จะดีขึ้น , เลวลง, หรือแค่ความสบายใจ (ทนทานขึ้น) พอจะแจกแจงเป้าหมายได้ดังนี้
- เพื่อคืนความถูกต้อง จากการที่เขาทำมาอย่างผิดพลาดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น การเปลี่ยนอะไหล่อุปกรณ์ที่เกรดสูงขึ้น เที่ยงตรงขึ้น บุคลิกเสียงเข้าท่าลงตัวขึ้น (หรือถูกใจเราเองมากขึ้น) อุปกรณ์ดีขึ้น ทำงานได้เสถียรมากขึ้น คงเส้นคงวา ไม่แปรผันไปตามไฟบ้าน หรือ ความร้อน ความชื้น ทำให้ทนขึ้น
- ดัดแปลงเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน ให้คล่องตัวขึ้น หลากหลายขึ้น หรือลดตัดฟังก์ชั่นการใช้งานบางอย่าง อันจะทำให้เสียงดีขึ้น
- ดัดแปลงเพื่อให้ได้เสียงที่จำเพาะเจาะจง อาจเพื่อชดเชยในจุดอื่นๆของระบบ หรือเพื่อความชอบส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ถูกต้องก็ได้
ขอบเขตของการดัดแปลงแก้ไข
เราอาจดัดแปลงง่ายๆนิดๆหน่อยๆหรือจนถึงกับแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมเลยก็ได้ ถ้าจะแยกเป็นพิเศษคงได้ 2 แนวทาง
- ดัดแปลงเองง่ายๆ โดยแค่จัดแยกแบ่งสาย คลี่กระจายสาย ยกสายหนี ฟังทิศทางอุปกรณ์บางชิ้น (เช่น เส้นฟิวส์ ,สาย) เป็นการปฏิบัติแบบไม่ต้องเสียเงิน แต่รับรองว่า เห็นผล ใครก็ฟังออกว่าดีขึ้น (ตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์)
- ดัดแปลงโดยเจาะลึก ถึงขั้นปรับแต่งแรงดันไฟใหม่ (ไบอัส) , เปลี่ยนอุปกรณ์ , บัดกรีสาย , ย้ายแผง , เจาะตัวถัง เสริมตัวถัง , เพิ่มอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งขั้นนี้ต้องปรึกษาผู้รู้ และมีฝีมือสักหน่อย ที่แน่ๆมีค่าใช้จ่ายแล้ว มากน้อยว่ากันไป จะทุ่มแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีผลชัดเจนเข้มข้นกว่ากรณีแรก
ข้อดีของการดัดแปลง
ถ้าการดัดแปลงนั้นๆกระทำอย่างเป็นงานและถูกต้อง อีกทั้งผู้ดัดแปลงฟังเป็นด้วย
- ได้คุณภาพเกินกว่ามาตรฐานตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (จริงๆกว่านี้ก็เป็นไปได้) ยื่งถ้าเขาทำมาอย่างผิดพลาด การดัดแปลงให้ถูกต้อง จะดีขึ้นอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
- อุปกรณ์นั้นๆทนทานขึ้น การดัดแปลงที่ถูกต้องทำให้ได้คุณภาพเสียงดีขึ้นทุกแง่มุม ทำให้เราใช้งานมันเบาลงจึงทนขึ้น เสถียรขึ้น แต่ถ้าการดัดแปลงแบบโลภมาก ตั้งใจบีบเค้นเอาพลังจากอุปกรณ์มากไป มันก็อาจจะเปราะได้ (แต่มีน้อย และควรเป็นข้อห้ามของการดัดแปลงอยู่แล้ว เช่น ดัดแปลงกำลังขับของภาคขยายให้มากขึ้น)
- ได้คุณภาพเสียงไฮเอนด์ ในราคาที่ถูกกว่ากันเป็นสิบๆเท่า เพราะวงการไฮเอนด์มีค่าการตลาดสูงมาก ทำให้ต้องตั้งราคาสูงลิบ ขณะที่มูลค่าเนื้อในไม่ได้สูงมากขนาดนั้น
- หลังดัดแปลงอย่างถูกต้องแล้ว มักพบว่าการติดตั้งบาลานซ์สุ้มเสียง หรือจัดวางลำโพงจะกระทำได้ง่ายขึ้น เข้าเป้าง่ายขึ้น ไม่รู้สึกเหมือนจับปูใส่กระด้ง แกว่งไม่รู้จบ
- การดัดแปลงให้อุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ เข้ากับอุปกรณ์อื่นๆได้ง่ายขึ้น กลมกลืนขึ้น อีกทั้งการเลือกแผ่นฟังจะลดลง ฟังแผ่นไหน เพลงไหน ก็น่าฟัง ฟังได้หมด
ข้อเสียของการดัดแปลง
แน่นอน ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่า เรารู้จักใช้แค่ไหน หรือประมาณขอบเขตความสามารถของอุปกรณ์ได้ขนาดไหน
- ถ้าดัดแปลงไม่เป็นงาน รู้ไม่จริง อุปกรณ์อาจเสียหายได้
- ถ้าฟังไม่เก่ง ไม่เป็น อาจหลอกตัวเอง ได้สุ้มเสียงที่บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน
- ถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ตรงประเด็น อาจมั่วไปแก้ในจุดที่ไม่ตรงเป้า ทำให้เสียเงินทองบานปลายใหญ่โต เป็นเหยื่อนักรับดัดแปลงหรือขายชิ้นส่วนอุปกรณ์อย่างไม่รู้จบ
- บริษัทที่ขายจะระงับยกเลิกการรับประกัน บางคนกังวลกับประเด็นนี้มาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เครื่องเสียงที่ได้มาตรฐานมักถูกออกแบบมาให้ก้าวพ้นช่วงการรับประกันได้โดยไม่พังเสียก่อน ดังนั้น ถ้าคุณดัดแปลง (อย่างถูกต้อง) มันก็ไม่พังก่อนการสิ้นสุดรับประกัน เมื่อสิ้นสุดรับประกันเช่น 1 ปี สถานการบริการของอุปกรณ์ปกติกับอุปกรณ์ดัดแปลงก็ไม่แตกต่างกันแล้ว
ในความเป็นจริง การดัดแปลงอย่างถูกต้อง เป็นงาน เรามักพบว่า กลับทำให้เครื่องเสียงนั้นๆทนทานยิ่งขึ้นด้วย ปัญหาของอุปกรณ์ดัดแปลงคือ เวลาเอาเข้าบริษัทซ่อม เราต้องย้ำว่า อย่าให้ช่างของบริษัทมาแก้ไขในส่วนดัดแปลงของเรา และเราควรสื่อสารกับช่างให้เข้าใจว่า เราไปดัดแปลงแก้ไขอะไรบ้าง เพื่ออะไร
- เมื่อดัดแปลงแล้ว มันอาจฟ้องชุดที่ใช้อยู่ว่า มีอะไรไม่ชอบมาพากล จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่า ดัดแปลงแล้วแย่ลง
ข้อจำกัดของการดัดแปลง
การดัดแปลงมีตั้งแต่ง่ายจนยาก บางครั้งแทบทำอะไรไม่ได้เลย ผู้ดัดแปลงควรมีเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างครบถ้วน จะทำให้การดัดแปลงทำได้ง่ายขึ้น หลากหลายแง่มุมขึ้น ทั้งทางไฟฟ้าและทางกล
- ดัดแปลงผิดจุด แก้ปัญหาไม่ตรงเป้า
- กรณีแผงวงจรใช้อะไหล่แบบจิ๋ว (SMT) เราแทบทำอะไรไม่ได้เลย
- สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น ที่ทางแคบเกินไป แออัดเกินไป สายภายในสั้นเกินไป
- มีการหล่อผนึกอะไหล่ตายตัวอยู่ในโมดูล
- เข้าไม่ถึงจุดที่ต้องการแก้ไขดัดแปลง ต้องรื้อแทบทั้งเครื่อง เป็นเรื่องใหญ่ หรือเขาหล่อปิดผนึกมา
- หาอะไหล่มาเติม เพิ่ม เปลี่ยนได้ยาก เป็นอะไหล่ที่ผู้ผลิตสั่งทำโดยเฉพาะ
- ความเกะกะไม่สวยงามเหมือนเดิม
- งบประมาณจำกัด แต่จริงๆแล้วเราสามารถเริ่มการดัดแปลงได้ตั้งแต่ในส่วนเล็กๆน้อยๆ งบไม่มากก่อน ค่อยดัดแปลงใหญ่ทีหลัง แต่ต้องไม่วัดผลการดีขึ้นด้วยเงินที่เสียไป บางทีต้องจ่ายอีกเยอะเพื่อดีขึ้นนิดหน่อยอาจดูไม่คุ้ม แต่ในระยะยาวเมื่อฟังไปนานๆจะพบว่า มันดีขึ้นเยอะจนกลับไปฟังอย่างเดิมไม่ได้
เราพอจะดัดแปลงอะไรได้บ้าง
- ทิศทางอุปกรณ์ (สาย , ฟิวส์ , ขาปลั๊กไฟ , ตัวต้านทาน , ตัวเก็บประจุ , ขดลวด , ตัวยูเสียบปลายสาย)
- การแยกสาย (สายไฟ , สายเสียงซ้าย-ขวา , สายแพ , สายเข้า-ออกหม้อแปลง)
- ยกสายหนี (จากการสัมผัสกับแท่น , หม้อแปลง , ขดลวดขาออกของแอมป์ , ครีบระบายความร้อน)
- เลือกช่อง input ที่ให้มิติมีทรวดทรงดีที่สุด (Analog in , Digital in)
- ถอดแผงวงจรที่ไม่ใช้ออกจากการเชื่อมต่อกับ main board (เช่น แผงภาครับวิทยุ , ภาคคาราโอเกะ , ภาค DAC , ภาคพัดลม , ภาค ipod in)
- ตัดดวงไฟ LED ภายนอกเครื่อง ภายในเครื่อง บนแผง ถ้ามีหรือหาอะไรปิดเสีย (ต้องฟังดู ไม่ดีก็ไม่ทำ)
- ปะปิดพวกรูรับสัญญาณดิจิตอล (เช่น R232 , รีโมท ฯลฯ)
- ช็อต input ที่ไม่ใช้ ด้วยหัว RCA ที่ช็อตภายใน (ทิศทางสายช็อตด้วย) (อย่าเสียบที่ output)
- เลือกชุดลำโพง A , B ชุดไหนเสียงเป็นตัวตนกว่า
- เลือกช่องปรีออก กรณีมีหลายชุด
- ปิดหรือตัดพวกมิเตอร์แสดงกำลังขับออก (เพาเวอร์แอมป์ , หน้าจอเครื่อง)
- ตัดตัวยูปลายสายเสียบออก (สายลำโพง , สายไฟ) ใช้บัดกรีตรงเลย
- ย้ายตำแหน่งดอกลำโพงเสียงแหลมมาชิดติดดอกกลางทุ้ม (เสียงจะอิ่ม มีเนื้อ มีทรวดทรง โฟกัส นิ่งขึ้น เบสดีขึ้น)
- ย้ายแผงวงจรแบ่งเสียงของลำโพงออกมาไว้นอกตู้ ลดการถูกสั่นสะเทือน ยกตัวขดลวดสูงหนีจากแผงไม่ให้ไปกวนตัวอื่นๆ (หรือย้ายตัวขดลวดไปไว้ใต้แผง)
- ตัดตัวป้องกันของลำโพงออก ไม่ว่าแบบกลมแบนสีน้ำตาล (polyswitch) หรือแบบกระเปราะแก้ว, รีเลย์ , ฟิวส์ เอาแผ่นบนล่างปิดแผงออก เอากล่องแผงวงจรออก
- ตัดชุดปรับเสียงแหลมของลำโพงออก หลังจากเลือกค่าได้ลงตัวแล้ว
- เอาสติ๊กเกอร์ที่ติดตูดลำโพงออก รวมทั้งพวกยางครอบ
- หมุนหน้ากากที่ปิดดอกแหลม ถ้ามีดาวแฉกบังอยู่ หมุนองศาว่า หมุนอย่างไรได้เสียงกลาง, แหลม โฟกัสเป็นตัวแล้วทำซ้าย-ขวาให้เหมือนกัน
- เช็คเฟสของทุกดอกลำโพง
- ขันน็อตที่ดอกลำโพงให้แน่นและเท่ากันทั้งซ้าย-ขวา
- เพิ่มความนิ่งของตัวเครื่องไม่ว่าเครื่องเล่น, ปรี , แอมป์ (เน้นที่แผงวงจรและหม้อแปลง)
- เอาฝาเครื่องออก หรือนำมาเจาะรูให้พรุนมากที่สุด (นอกจากเครื่องเล่น CD , DVD เพราะฝุ่นจะเข้าไปจับหัวอ่าน)
- ไขน็อตที่ยึดรูสัญญาณ input L,R ออก รวมทั้ง output L,R ต้องระวังเวลาดึง สายรู input ,output จะหักจากแผง ไขน็อตแล้วหยอดกาวแทน
- เปลี่ยนฟิวส์ดีๆอย่าใช้บัดกรี ให้เพิ่มเต้าเสียบฟิวส์แทน
- บัดกรีจุดสำคัญๆใหม่ด้วยตะกั่วอย่างดี
- ย้ายสายไฟที่เลี้ยงพัดลมของเครื่อง ไปใช้ไฟภายนอกแทนถ้าทำได้
- เพิ่มเกรดอุปกรณ์ หรือคัดค่าอุปกรณ์ซ้าย,ขวา ให้ตรงกัน (matched pair)
- เปลี่ยนใช้รีโมทคุณภาพสูงแทนหรือใช้ถ่านรีโมทดีๆ (energizer ze ลิเธียม)
- แหกสายแพ ถ้าหักงอให้ดัดจนโค้ง
- ลองเอาฟิวส์สำรองออกจากขั้วเสียบสายไฟ IEC หลังเครื่อง
- เพิ่มการระบายความร้อน (เพิ่มปริมาณครีบระบาย)
- พยายามกดที่ปุ่มหน้าเครื่อง ไม่ใช้รีโมทเลย (เอาออกไปนอกห้อง) รวมทั้งพวกคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ
- ไม่ต่อพ่วงระบบควบคุม เช่น พวกคุมปิด-เปิดไฟในห้อง, ดึงจอขึ้นลง , เปิดโปรเจ็กเตอร์ , พ่วง PC
- ปะแผ่นยางกันสะเทือน
- ย้ายหม้อแปลงออกมาอยู่ภายนอก
- เจาะโบ๋ใต้แผงวงจร เอาหน้ากากลำโพงออก
- ฟังทดสอบทิศทางสายจั๊มป์พ่วงช่องลำโพงไบ-ไวร์ (กรณีเราใช้ single wine)
- ห้ามใช้สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูป